เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบกว่า 7 เดือน

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบกว่า 7 เดือน ขณะที่ SET Index พลิกกลับมายืนเหนือ 1,700 จุด จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 ของไทย สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 7 เดือนที่ 32.09 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะลดช่วงบวกลงบางส่วนปลายสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ตามปัจจัยทางเทคนิคหลังแข็งค่าผ่านแนวสำคัญทางจิตวิทยาหลายระดับ

ประกอบกับยังคงได้รับอานิสงส์จากทิศทางเงินทุนไหลเข้าของต่างชาติ และแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ที่คาดว่ามาจากผู้ส่งออกที่เชื่อมโยงกับจังหวะการปรับขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก อย่างไรก็ดีกรอบการแข็งค่าของเงินบาทเริ่มจำกัดลงช่วงปลายสัปดาห์สอดคล้องกับการกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ

ในวันศุกร์ (18 ก.พ.) เงินบาทปิดตลาดที่ 32.16 เทียบกับระดับ 32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ก.พ.)

 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.80-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 และข้อมูลการส่งออกเดือนม.ค.ของไทย ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/การใช้จ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนม.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 (prelim.) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามสถานการณ์ในยูเครน การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของธนาคารกลางจีน รวมถึงข้อมูลเบื้องต้นของดัชนี PMI เดือนก.พ. ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

 

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยพลิกกลับมายืนเหนือ 1,700 จุด โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,713.20 จุด เพิ่มขึ้น 0.82% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 93,800.75 ล้านบาท ลดลง 7.00% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.66% มาปิดที่ 650.37 จุด

หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อนสวนทางกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกกดดันจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ทั้งนี้ ปัจจัยที่หนุนหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ นอกจากจะมาจากแรงซื้อสุทธิของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติแล้ว ยังมีมาตรการสนับสนุนรถ EV ของภาครัฐ ซึ่งช่วยหนุนหุ้นที่เกี่ยวเนื่องให้ปรับขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยแกว่งตัวกรอบแคบในช่วงปลายสัปดาห์ระหว่างรอติดตามตัวเลขจีดีพีไทยซึ่งจะประกาศในสัปดาห์หน้ารวมถึงประเด็นรัสเซีย-ยูเครนซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอน

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,700 และ 1,690 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,725 และ 1,740 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 ของไทย สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูล PMI เดือนก.พ. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนม.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนก.พ. ของจีน ข้อมูล PMI เดือนก.พ. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน และอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค.ของยูโรโซน

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance